Home
| about us | เวชสำอางค์ | บทความ-สาระน่ารู้ |ติดต่อสอบถาม | แผนที่

บทความน่ารู้

- ความเครียด

- นอนไม่หลับ (Sleep problem)

- โรคซึมเศร้า

          ตอนที่ 1

          ตอนที่ 2

          ตอนที่ 3

          ตอนที่ 4

- โรคจิต….คืออะไร

- การผ่อนคลายความเครียด

- ลูกขาดวินัย ทำอย่างไรดี

- โรคแพนิค

- ไมเกรน

- วิธีเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเอง

- เมื่อลูกรักเป็นเด็กสมาธิสั้น

- อกหักเรื่องจี๊ด ๆ

-โรคย้ำคิดย้ำทำ

ซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า

ข้อมูลจาก ramamental.com


          คนเราทุกคนมีอารมณ์เศร้า เหงา เบื่อ หรือท้อแท้ได้ เมื่อเจอเหตุการณ์ที่มากระทบจิตใจ ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติ แต่ถ้าเมื่อใดที่อาการเหล่านี้คงอยู่ยาวนานโดยไม่ดีขึ้น และมีอาการต่างร่วมด้วยเช่น นอนหลับไม่สนิท เบื่ออาหาร ไม่อยากออกไปไหน หรือคิดไม่อยากมีชิวิตอยู่ต่อไป ให้ระมัดระวังว่าคุณอาจเข้าข่ายโรคซึมเศร้าได้

          โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางการแพทย์ชนิดหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมี ในร่างกายไม่แตกต่างจากโรคทางกาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และจำเป็นต้องรักษาด้วยยาเมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็สามารถหายเป็นปกติได้ มิใช่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าคือคนที่อ่อนแอ เกียจคร้าน หรือ ไม่สู้ชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้ต้องการเป็นโรคนี้
อาการที่สำคัญของโรคซึมเศร้า

          • อารมณ์เปลี่ยนแปลง อารมณ์ซึมเศร้า หดหู่ ร้องไห้บ่อย จิตใจหม่นหมอง ไม่แจ่มใส ไม่สดชื่นเหมือนเดิม เบื่อหน่าย กิจกรรมเดิมที่เคยทำแล้วเพลินใจก็ไม่อยากทำ บางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ในรายที่เป็นรุนแรงซึ่งนอกจากผู้ที่เป็นจะมีอาการซึมเศร้ามากแล้ว จะยังพบว่ามีอาการของโรคจิตได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย
          • ความคิดในแง่ลบ มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดความล้มเหลวของตนเอง มองปัจจุบันก็รู้สึกว่าอะไรก็ดูแย่ไปหมด ไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต บางคนกลายเป็นคนไม่มั่นใจตนเอง รู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า เป็นภาระแก่คนอื่น ต่อมาเริ่มคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรือคิดฆ่าตัวตาย
          • อาการทางร่างกายร่วม อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ปัญหาการนอน เช่น หลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หลับๆตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก สมาธิความจำแย่ลง จะหลงลืมง่าย
• หน้าที่การงานและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแย่ลง ความรับผิดชอบต่อการงานก็ลดลง จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร เริ่มลางานขาดงานบ่อยๆ


          จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคซึมเศร้า(ประเมินตนเองโดยลองทำแบบคัดกรองโรคซึมเศร้าแบบ 9 คำถาม )
สาเหตุ โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียวเท่านั้น ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้าได้แก่
1. กรรมพันธุ์
2. สารเคมีในสมอง โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ บกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน
3. ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น

          การรักษา

          การรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้า ข้อควรทราบมีดังนี้
          • ยาต้านเศร้ามีอยู่เป็นหลายขนาน ผู้ป่วยคนไหนจะถูกกับยาตัวไหนเป็นเรื่องเฉพาะตัว ถ้าแพทย์รักษาไประยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าให้ยาในขนาดที่พอเพียงแล้วผู้ป่วยยังอาการดีขึ้นไม่มาก ก็อาจเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นต่อไป
          • อาการของโรคไม่ได้หายทันทีที่กินยา ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไปอาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด
          • ยาทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ จึงควรใช้ในขนาดและกินตามเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น
          • ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยกลัวว่าจะติดยา หรือกลัวว่ายาจะไปสะสมอยู่ในร่างกาย จริงแล้วยาแก้เศร้าไม่มีการติดยา ถ้าขาดยาแล้วมีอาการไม่สบาย นั่นเป็นเพราะว่ายังไม่หายจากอาการของโรค การกินๆ หยุดๆ หรือกินไม่ครบขนาดกลับจะยิ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี และรักษายากมากขึ้น
          • อาการข้างเคียงที่พบได้ในยาต้านเศร้า ได้แก่ ง่วงซึมหรือนอนไม่หลับ ปากคอแห้ง ทำให้หิวน้ำบ่อยๆ ตามัว มองเห็นไม่ชัด ท้องผูก เวียนศีรษะ หน้ามืด กระวนกระวาย คลื่นไส้ ปวดหัว (แล้วแต่ชนิดของยาต้านซึมเศร้า)
          • ระยะเวลาในการรักษา หลังจากที่รักษาจนผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว แพทย์จะให้ยาในขนาดใกล้เคียงกับขนาดเดิมต่อไปอีกนาน 4-6 เดือน เมื่อให้ยาไปจนครบ 6 เดือนโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการเลยในระหว่างนี้ แพทย์จึงจะค่อยๆ ลดยาลงโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนจนหยุดยาในที่สุด
         • แม้ว่าจะหายจากการป่วยในครั้งนี้แล้ว พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ป่วยครั้งแรกมีโอกาสที่จะเกิดป่วยซ้ำอีกได้ หลักการโดยทั่วๆ ไปคือ ถ้าเป็นครั้งที่สอง โอกาสเกิดเป็นครั้งที่สามก็สูงขึ้นและถ้าเป็นครั้งที่สาม จำเป็นต้องกินยากันไม่ให้กลับเป็นซ้ำไปนานเป็นปีๆ
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย
          • การออกกำลังกาย ที่ได้ผลดีจะเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ซึ่งจะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น การกินอาหารดีขึ้น การขับถ่ายดีขึ้น ถ้าได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นด้วยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าสังคม ไม่รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว
          • อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป การตั้งความหวังกับตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง
         • ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียด เช่น เที่ยวสวนสาธารณะ เที่ยวชายทะเล ปลูกต้นไม่ ทำบุญเข้าวัด อ่านหนังสือ เป็นต้น
         • ไม่ควรตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต เช่น การเลิกกับแฟน การหย่าร้าง การลาออกจากงาน การย้ายที่อยู่ อาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปได้ ควรเลื่อนการตัดสินใจไปก่อน หรือปรึกษาผู้ใกล้ชิดหลายๆ คนให้ช่วยคิด
          • การแก้ปัญหาให้แยกแยะปัญหาให้เป็นส่วนย่อยๆ จัดเรียงลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนควรทำก่อนหลังแล้วลงมือทำไปตามลำดับโดยทิ้งปัญหาย่อยอื่นๆ ไว้ก่อน วิธีนี้จะพอช่วยให้รู้สึกว่าตนเองยังทำอะไรได้อยู่

           คำแนะนำสำหรับญาติ

           • ญาติมักจะรู้สึกห่วงและ ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงได้ซึมเศร้ามากขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เรื่องที่มากระทบก็ดูไม่หนักหนานก ทำให้บางคนพาลรู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง เห็นว่าผู้ป่วยเป็นคนอ่อนแอ เป็นคนไม่สู้ ท่าทีเช่นนี้กลับยิ่งทำให้ผู้ที่เป็นรู้สึกว่าตัวเองยิ่งแย่ขึ้นไปอีก เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น ทำให้จิตใจยิ่งตกอยู่ในความทุกข์ หากแต่เป็นภาวะของความผิดปกติ เขากำลัง "เจ็บป่วย" อยู่
          • หากญาติมีความเข้าใจผู้ที่เป็น โรคซึมเศร้า มองว่าเขากำลังไม่สบาย ความคาดหวังในตัวเขาก็จะลดลง ความหงุดหงิด คับข้องใจก็ลดลง เรามักจะให้อภัยคนที่กำลังไม่สบาย มีข้อยกเว้นให้บางอย่าง เพราะเราทราบดีว่าเขาไม่ได้แกล้งทำ ไม่มีใครอยากป่วย
           • บางครั้งผู้ป่วยดูเงียบขรึม บอกไม่อยากพูดกับใคร ก็อาจต้องตามเขาบ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่จะปล่อยเขาไปหมด หากสังเกตว่าช่วงไหนเขาพอมีอารมณ์แจ่มใสขึ้นมาบ้างก็ควรชวนเขาพูดคุยถึงเรื่องที่เขาเคยชอบ เคยสนใจ อาจเริ่มด้วยการคุยเล็กๆ น้อยๆ ไม่สนทนานานๆ เพราะเขายังไม่มีสมาธิพอที่จะติดตามเรื่องยาวๆ ได้นาน และยังเบื่อง่ายอยู่ การที่ญาติมีท่าทีสบายๆ ใจเย็น พร้อมที่จะช่วย จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายลง
           • ผู้ที่กำลังซึมเศร้าบางครั้งอาจเกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่เห็นหนทางแก้ปัญหา อาจรู้สึกอยากตายได้ ผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนี้แม้ว่าบางคนจะไม่บอกใคร แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะบอกคนใกล้ชิดเป็นนัยๆ ญาติควรใส่ใจ หากผู้ป่วยพูดจาในทำนองสั่งเสีย ล่ำลา หรือพูดเหมือนกับจะไม่อยากมีชีวิตอยู่ การบอกเป็นนัยๆ นี้แสดงว่าจิตใจเขาตอนนั้นกำลังต้องการความช่วยเหลือ ต้องการคนเข้าใจอย่างมาก
           • ญาติมักไม่ค่อยกล้าถามผู้ป่วยถึงเรื่องความคิดอยากตาย เพราะเกรงว่าจะเป็นการไปชี้โพรงให้กระรอก แต่จริงๆ แล้วๆ ไม่เป็นเช่นนั้น ในทางตรงกันข้าม การถามกลับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึก ความตึงเครียด คับข้องใจลดลง หากผู้ป่วยพูดถึงเรื่องอยากตาย อย่าบอกว่า "อย่าคิดมาก" "ให้เลิกคิด" หรือ "อย่าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น" คำพูดทำนองนี้อาจทำให้เขารู้สึกว่าญาติไม่สนใจรับรู้ปัญหา ญาติควรให้ความสนใจ เปิดโอกาสให้เขาได้พูดถึงความคับข้องใจ เมื่อผู้ป่วยได้พูดระบายความคับข้องใจออกมา จิตใจจะผ่อนคลายลง สภาพจิตใจตอนนี้เริ่มจะเปิดกว้างพร้อมที่จะรับฟังผู้อื่น
          • ในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้ามากนั้น หากเขายังทำอะไรไม่ได้ก็ควรจะให้พักผ่อนไปจะดีกว่าการไปบังคับให้เขาทำโดยที่ยังไม่พร้อม หากอาการเริ่มดีขึ้น ก็อาจค่อยๆ ให้งานหรือชวนให้เขาร่วมกิจกรรมที่พอทำได้บ้าง เป็นงานที่ไม่ต้องอาศัยสมาธิมากนัก หากเป็นงานที่มีการเคลื่อนไหว เคลื่อนที่จะดีกว่างานที่ผู้ป่วยนั่งอยู่เฉยๆ เพราะการมีกิจกรรมจะทำให้ความคิดฟุ้งซ่าน การอยู่กับตนเองลดลง


ติดวัดเมืองใหม่ ริม ถ.พระยาสัจจา อ.เมือง จ.ชลบุรี

Tel 087-992-6993